pexels-matthias-zomer-618158

ผู้จัดการมรดก โอนที่ดินให้ตัวเองได้หรือไม่

โดยหลัก !!! ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ คือ จัดทำบัญชีทรัพย์ สืบหาทายาท จัดการมรดกหรือแบ่งปันทรัพย์มรดก ต่อมาผู้จัดการมรดกจะโอนที่ดินให้ตัวเองได้หรือไม่นั้น โดยสรุป

ประเด็นแรก ถ้าผู้จัดการมรดกเป็นทายาท และเหลือแค่ผู้จัดการมรดก การโอนที่ดินให้ตัวเองก็ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่สอง ถ้ามีทายาทคนอื่น ๆ ที่ยังมีชีวิต ต้องดูต่อไปว่าเจตนาของผู้จัดการมรดกนั้น โอนเพื่อเจตนาเป็นของตัวเองคนเดียวใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ตรงนี้ผิดกฎหมาย ผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก

ประเด็นที่สาม ถ้ามีทายาทคนอื่น ๆ ที่ยังมีชีวิต แต่การโอนที่ดินเป็นของผู้จัดการมรดกนั้น เป็นการครอบครองแทนไว้ชั่วคราว เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการทรัพย์สิน ตรงนี้ไม่ผิดกฎหมาย เพราะเจตนาปันทรัพย์ให้ทายาทคนอื่น ๆ

มาตราเกี่ยวข้อง
มาตรา 1719 ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก
มาตรา 1725 ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นภายในเวลาอันสมควร
มาตรา 1728 ผู้จัดการมรดกต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในสิบห้าวัน
(1) นับแต่เจ้ามรดกตาย ถ้าในขณะนั้นผู้จัดการมรดกได้รู้ถึงการตั้งแต่งตามพินัยกรรมที่มอบหมายไว้แก่ตน หรือ
(2) นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1726 ในกรณีที่ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก หรือ
(3) นับแต่วันที่ผู้จัดการมรดกรับเป็นผู้จัดการมรดกในกรณีอื่น
และอื่น ๆ

ในสังคมปัจจุบัน ชายและหญิงนิยมอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียน อาจจะเพราะทดลองอยู่ก่อนแต่ง หรือเห็นว่าทะเบียนสมรสไม่สำคัญ บ้างก็จัดงานแต่งงานผูกแขนก็ถือว่าเสร็จพิธี ไม่ได้ไปจดทะเบียนสมรสต่อ หรือเหตุผลทางธุรกิจก็ตาม

แต่เมื่อชายและหญิงได้มาอยู่ร่วมกัน ย่อมมีความสัมพันธ์พิเศษ ซึ่งมีหลายคู่สิ่งที่ตามมาคือมีบุตร บุตรซึ่งเกิดโดยชายและหญิงไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน หากต่อมาชายและหญิงจดทะเบียนสมรสกัน หรือฝ่ายชายรับรองบุตร ก็ไม่มีปัญหาที่บุตรจะได้รับมรดกของฝ่ายชาย

แต่ถ้าฝ่ายชายตายก่อนที่จะได้กระทำ ไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรส หรือรับรองบุตร บุตรที่เกิดมามีปัญหาในการรับมรดกฝ่ายชายอย่างแน่นอน แล้วมารดาจะจัดการมรดกแทนบุตรได้อย่าง มาดูกัน !!!

ประเด็นแรก ต้องมีพิสูจน์ให้ได้ว่า บุตรแม้เกิดฝ่ายหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับฝ่ายชาย(ผู้ตาย) แต่ฝ่ายชาย(ผู้ตาย)มีการรับรองโดยพฤติการณ์แล้ว ทำให้บุตรย่อมเป็นทายาทโดยธรรมของฝ่ายชาย(ผู้ตาย)

ประเด็นที่สอง บุตรที่เกิดมานั้น ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรืออายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงติดเงื่อนไขในการทำนิติกรรมหลายอย่าง จึงต้องให้มารดาทำนิติกรรมแทน

หากเงื่อนไขครบตามข้างต้น 1) พิสูจน์ได้ว่าฝ่ายชาย(ผู้ตาย) รับรองบุตรโดยพฤติการณ์ 2) บุตรอายุไม่ครบ 20 ปี มารดาก็สามารถร้องจัดการมรดกแทนบุตรได้ตามกฎหมายต่อไป

บุตรนอกสมรส คือ บุตรที่เกิดจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน บุตรที่เกิดมานั้นจึงไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชาย จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของฝ่ายชายได้ เว้นแต่

มีพฤติการณ์ที่ถือเป็นการรับรองโดยพฤตินัย เช่น ให้ใช้นามสกุล ส่งเสียเลี้ยงดู ให้การศึกษา ให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หากพิสูจน์ได้ บุตรนอกสมรส ก็สามารถรับมรดกฝ่ายชายได้ตามกฎหมาย

ในกรณที่ผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย และก็ยังจัดการทรัพย์มรดกไม่เสร็จ จะต้องทำอย่างไร

กรณีแรก ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกมีเพียงคนเดียว ในกรณีนี้ผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับการแต่งตั้ง หากผู้จัดการมรดกตายก่อนจัดการมรดกเสร็จสิ้น จะต้องร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ ดังนั้นหากผู้จัดการมรดกได้รับการแต่งตั้งเพียงคนเดียวต้องทำคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกใหม่

กรณีที่สอง หากผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกมีมากกว่าหนึ่งคน ในกรณีนี้มีผู้จัดการมรดกหลายคนตามคำสั่งศาล เมื่อผู้จัดการมรดกร่วมคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกร่วมที่ยังมีชีวิตอยู่จะจัดการมรดกต่อไปก็ได้ แต่ผู้จัดการมรดกที่เหลือต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ผู้จัดการมรดกที่เหลือขอทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกต่อไปต่อศาลก่อน

เพียงเท่านี้ก็สามารถดำเนินจัดการทรัพย์มรดกต่อไปได้จนเสร็จสิ้นต่อไป

บุตรบุญธรรม

บุตรบุญธรรม คือ บุตรของผู้อื่นที่บุคคลได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรของตน โดย บิดา หรือมารดาบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมมิใช่สายเลือดเดียวกัน แต่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจกัน ระหว่างบิดาหรือมารดาบุญธรรมกับบิดามารดาที่แท้จริงของเด็ก และเด็กที่เป็นบุตรบุญธรรมด้วยเหตุผลบางประการ เช่นเพื่ออนาคตของเด็ก หรือเพื่อให้ผู้รับบุตรบุญธรรมที่ไม่มีบุตรได้มีบุตรสมใจปรารถนา การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กฎหมายจะให้ความคุ้มครองสิทธิเด็กให้มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา หรือมารดาบุญธรรมทันทีนับแต่วันที่จดทะเบียน

เช่น มีสิทธิได้รับมรดก มีสิทธิใช้นามสกุลของบิดา หรือมารดาบุญธรรม โดยที่บิดา หรือมารดาบุญธรรมไม่มีสิทธิที่จะมารับมรดกของบุตรบุญธรรม นอกจากนี้แล้ว บุตรบุญธรรมยังไม่เสียสิทธิที่พึงมีตามกฎหมายในครอบครัวเดิมแต่อย่างใด คือ ยังมีสิทธิรับมรดก ของบิดามารดาที่แท้จริงได้ และบิดามารดาที่แท้จริงมีสิทธิไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนได้ตามสมควร ทั้งนี้กฎหมายยังคุ้มครองเด็กโดยบิดา หรือมารดาบุญธรรมจะเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาที่แท้จริงเสียก่อน และจะฟ้องให้มีการเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยไม่มีเหตุอันควรไม่ได้

สำหรับผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมได้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายเท่านั้น ในกรณีที่มีคู่สมรสจะรับบุตรบุญธรรมทั้งคู่ต้องจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมด้วยกันทั้งคู่ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจดทะเบียนรับเพียงฝ่ายเดียวแม้อีกฝ่ายจะยินยอมไม่ถือเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมด้วยแต่อย่างใด การรับบุตรบุญธรรมที่สมบูรณ์ทำให้บุตรบุญธรรมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น โดยที่บุตรบุญธรรมนั้นไม่สูญเสียสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิด

ดังนั้น บุตรบุญธรรมมีสิทธิได้รับมรดก 2 ทาง คือ 1. รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม 2. รับมรดกของบิดามารดาที่แท้จริง บุตรบุญธรรมจึงมีสิทธิรับมรดก

pexels-doğukan-benli-3094345

สินสมรส” และ “สินส่วนตัว

ความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สิน เมื่อชายหญิงได้ทำการสมรสกันตามกฎหมายแล้ว ทรัพย์สินต่าง ๆ ของแต่ละฝ่าย ที่มีอยู่ก่อนสมรสหรือจะมีขึ้นภายหลังการสมรสต้องมีการจัดระบบใหม่ ซึ่งกฎหมายได้แยกทรัพย์สินออกเป็น 2 ประเภท คือ

• สินสมรส

• สินส่วนตัว (สินเดิม)

สินสมรส

ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส หมายถึง ทรัพย์สินอื่น ๆ นอกจากที่เป็นสินส่วนตัวแล้ว ถ้าคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายใดได้มา ก็ถือว่าเป็นสินสมรสทั้งสิ้น เช่น เงินเดือน โบนัส เงินรางวัลจากลอตเตอรี่ เป็นต้น

กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้

• ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้ที่ทำเป็นหนังสือ แต่พินัยกรรมหรือหนังสือยกให้นั้น ต้องระบุว่าให้เป็นสินสมรสด้วย ถ้าไม่ระบุก็ถือเป็นสินส่วนตัว

• ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว คำว่า “ดอกผล” หมายถึง ผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์นั้น ซึ่งอาจเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นจากความผูกพันตามกฏหมายก็ได้ เช่น มีแม่วัว ลูกวัวก็เป็นดอกผลธรรมชาติ มีรถแล้วเอารถไปให้เขาเช่า ค่าเช่าก็เป็นดอกผลที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย เป็นต้น

สินส่วนตัว

ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นกฎหมายให้ถือเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายหญิง นอกจากนี้ถ้าทรัพย์สินดังกล่าวได้เปลี่ยนสภาพไป เช่น ขายไปได้เงินมาเงินนั้นก็จะกลายเป็นสินส่วนตัวเช่นกัน หรือ เอาเงินที่เป็นสินส่วนตัวไปซื้อของสิ่งนั้นก็จะกลายเป็นสินส่วนตัวด้วย

กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้

• ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรสไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เช่น บ้าน ที่ดิน แก้วแหวน เงิน ทอง ถ้ามีอยู่ก่อนสมรสกฎหมายถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้นั้น

• ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับตามสมควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น

เครื่องใช้สอยส่วนตัว เช่น แว่นตา แปรงสีฟัน เป็นต้น เครื่องประดับกาย เช่น สร้อยคอ แหวน กำไล ต่างหู แต่ต้องพิจารณาถึงฐานะด้วย เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ ต้องดูว่าอาชีพนั้นจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง เช่น เป็นหมอก็ต้องมีเครื่องมือตรวจโรค

ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสไม่ว่าโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา ในกรณีนี้หมายถึงการได้มาในส่วนตัวโดยแท้ ดังนั้น กฎหมายจึงให้ถือเป็นสินส่วนตัวของแต่ละคน

pexels-tristan-le-1642883

เรื่องที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับการเกษียณอายุ

ผู้เขียนได้รับอีเมล์จากท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านได้สอบถามถึงการเกษียณอายุ ทำให้ผู้เขียนเข้าใจว่า ยังมีท่านผู้อ่านอีกจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจเรื่องการเกษียณอายุ ผู้เขียนจึงถือโอกาสนี้รวบรวมกรณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเกษียณอายุมาแจกแจงให้ท่านผู้อ่านทราบตามบทความเรื่องนี้

การที่ลูกจ้าง (เอกชน) คนใดคนหนึ่งต้องออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุ ผู้เขียนฟันธงได้เลยว่า ถือเป็นกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างจากนายจ้าง ซึ่งเหตุการเกษียณอายุนี้ถือเป็นเหตุของการเลิกจ้างประเภทหนึ่งซึ่งนายจ้างจะกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

เกษียณอายุคืออะไร เมื่อพิจารณาตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้คำอธิบายคำว่า เกษียณอายุ หมายถึง  ครบกำหนดอายุรับราชการ หรือสิ้นกำหนดเวลารับราชการ ดังนั้น การที่บรรดานายจ้างได้กำหนดการเกษียณอายุเป็นเหตุ ๆ หนึ่งแห่งการเลิกจ้างไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน น่าจะเป็นการนำการครบกำหนดอายุรับราชการตามกฎหมาย (๖๐ ปี) มาเป็นการครบอายุตามสัญญาจ้างแรงงานเช่นกัน

การเกษียณอายุของลูกจ้างในกิจการของเอกชน  นายจ้างโดยทั่วไปมักจะกำหนดอายุหกสิบปีบริบูรณ์เป็นการครบกำหนดอายุของสัญญาจ้างแรงงาน แต่ก็มิได้หมายความว่านายจ้างจะกำหนดเวลาเกษียณอายุเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นายจ้างอาจจะกำหนดอายุ ๕๕ ปี หรือ๖๕ ปี เป็นกำหนดเวลาเกษียณอายุของลูกจ้างก็ได้ ปัจจุบันยังไม่มีข้อกฎหมายห้ามไว้ หากไม่มีกำหนดอายุของลูกจ้างที่จะทำให้สิ้นสุดสัญญาไว้เลย ก็คงจะไม่ยุติธรรมกับลูกจ้างนัก เพราะลูกจ้างคงจะต้องทำงานไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถูกนายจ้างเลิกจ้างเอง หรือทำงานไม่ไหวจนกระทั่งลาออกไปเลย

การเกษียณอายุในทางแรงงานก็มักจะเกิดปัญญาในการตีความในทางกฎหมายหลายประการ ดังนี้

  • การกำหนดเวลาเกษียณอายุของลูกจ้าง นายจ้างอาจกำหนดออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
  • กำหนดเวลาเกษียณอายุให้แตกต่างกันตามประเภทงาน เนื่องจากกิจการบางประเภทมีลักษณะการทำงานของลูกจ้างแตกต่างกันชัดเจน กรณีนี้ นายจ้างสามารถกระทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานแต่อย่างใด
  • กำหนดระยะเวลาเกษียณอายุให้แตกต่างกันเนื่องจากเพศของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๕ บัญญัติว่า ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ลักษณะและสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้ ดังนั้น  การที่นายจ้างจะกำหนดระยะเวลาเกษียณอายุให้ลูกจ้างชายหญิงแตกต่างกันจึงไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตราดังกล่าว
  • การกำหนดระยะเวลาเกษียณลูกจ้างไว้ ไม่ทำให้สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน เนื่องจากในระหว่างระยะเวลาการจ้างแรงงานนั้น นายจ้างและลูกจ้างต่างก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้ตลอดเวลา โดยการบอกกล่าวล่วงหน้า กล่าวคือ ลูกจ้างสามารถยื่นใบลาออกได้ หรือนายจ้างสามารถเลิกลูกจ้างได้เช่นกัน ดังนั้น การที่ลูกจ้างจะทำงานจนครบกำหนดระยะเวลาเกษียณอายุหรือไม่จึงไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน กำหนดะระยะเกษียณอายุของนายจ้างจึงไม่ทำให้สัญญาจ้างแรงงานกลายเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน การเลิกจ้างเพราะการเกษียณอายุของนายจ้างจึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
  • นายจ้างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาเกษียณอายุโดยลำพังได้ เนื่องจากกำหนดระยะเวลาเกษียณอายุถือเป็นเหตุหนึ่งของการเลิกจ้าง จึงถือเป็นสภาพการจ้างตามกฎหมายแรงงานด้วย หากนายจ้าง เปลี่ยนแปลงโดยมีลักษณะย่นระยะเวลาเกษียณอายุเข้ามา ลูกจ้างคงเหลือกำหนดระยะเวลาการทำงานที่สั้นลง การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง หากไม่ได้รับความยินยอมของลูกจ้างก่อน ย่อมไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง

๔. การเลิกจ้างเนื่องจากลูกจ้างครบกำหนดเกษียณอายุ เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม เพราะถือเป็นการเลิกจ้างที่ใช้บังคับกับลูกจ้างทุกคนโดยทั่วไป ซึ่งใช้อายุของลูกจ้างเป็นตัวกำหนด เนื่องจากอายุของลูกจ้างทุกคนเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเกษียณก็จะสูงวัยแล้ว แม้จะมีข้อยกเว้นสำหรับลูกจ้างบางคนที่นายจ้างอาจจะว่าจ้างต่อไป

๕. การที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงขยายอายุเกษียณ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยทันทีเมื่อลูกจ้างครบกำหนดอายุเกษียณตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน  ศาลฎีกาได้วางบรรดทัดฐานไว้สำหรับกรณีนี้ว่า หากยินยอมให้นายจ้างยกข้ออ้างว่า ได้ตกลงกับลูกจ้างขยายอายุเกษียณออกไปแล้ว ย่อมเป็นช่องทางให้นายจ้างหลบเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุได้ โดยทำทีเป็นการจ้างต่อไปจนลูกจ้างทำงานไม่ไหวลาออกไปเอง ดังนั้น กรณีนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานต่อไปหลังจากเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแต่ยังคงไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างจึงมีสิทธิเรียกค่าชดเชยและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันที่ลูกจ้างครบอายุเกษียณตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นต้นไป

                 แม้ว่าเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ได้มีข่าวว่า จะมีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเพิ่มข้อกำหนดให้การเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมาย และบังคับให้อายุ ๖๐ ปีเป็นกำหนดอายุเกษียณของลูกจ้าง แต่จนกระทั่งวันที่ผู้เขียนเขียนบทความฉบับนี้ กฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ประกาศออกมาบังคับใช้ ดังนั้น แนวทางการพิจารณาเรื่องเกษียณอายุก็ยังคงต้องใช้แนวทางการพิจารณาตามบทความนี้ต่อไป

ท่านผู้อ่านท่านใดมีความประสงค์สอบถามปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายอื่นใด สามารถกรอกแบบฟอร์มได้ทาง https://taplaws.com/