pexels-matthias-zomer-618158

ผู้จัดการมรดก โอนที่ดินให้ตัวเองได้หรือไม่

โดยหลัก !!! ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ คือ จัดทำบัญชีทรัพย์ สืบหาทายาท จัดการมรดกหรือแบ่งปันทรัพย์มรดก ต่อมาผู้จัดการมรดกจะโอนที่ดินให้ตัวเองได้หรือไม่นั้น โดยสรุป

ประเด็นแรก ถ้าผู้จัดการมรดกเป็นทายาท และเหลือแค่ผู้จัดการมรดก การโอนที่ดินให้ตัวเองก็ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่สอง ถ้ามีทายาทคนอื่น ๆ ที่ยังมีชีวิต ต้องดูต่อไปว่าเจตนาของผู้จัดการมรดกนั้น โอนเพื่อเจตนาเป็นของตัวเองคนเดียวใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ตรงนี้ผิดกฎหมาย ผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก

ประเด็นที่สาม ถ้ามีทายาทคนอื่น ๆ ที่ยังมีชีวิต แต่การโอนที่ดินเป็นของผู้จัดการมรดกนั้น เป็นการครอบครองแทนไว้ชั่วคราว เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการทรัพย์สิน ตรงนี้ไม่ผิดกฎหมาย เพราะเจตนาปันทรัพย์ให้ทายาทคนอื่น ๆ

มาตราเกี่ยวข้อง
มาตรา 1719 ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก
มาตรา 1725 ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นภายในเวลาอันสมควร
มาตรา 1728 ผู้จัดการมรดกต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในสิบห้าวัน
(1) นับแต่เจ้ามรดกตาย ถ้าในขณะนั้นผู้จัดการมรดกได้รู้ถึงการตั้งแต่งตามพินัยกรรมที่มอบหมายไว้แก่ตน หรือ
(2) นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1726 ในกรณีที่ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก หรือ
(3) นับแต่วันที่ผู้จัดการมรดกรับเป็นผู้จัดการมรดกในกรณีอื่น
และอื่น ๆ

ในสังคมปัจจุบัน ชายและหญิงนิยมอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียน อาจจะเพราะทดลองอยู่ก่อนแต่ง หรือเห็นว่าทะเบียนสมรสไม่สำคัญ บ้างก็จัดงานแต่งงานผูกแขนก็ถือว่าเสร็จพิธี ไม่ได้ไปจดทะเบียนสมรสต่อ หรือเหตุผลทางธุรกิจก็ตาม

แต่เมื่อชายและหญิงได้มาอยู่ร่วมกัน ย่อมมีความสัมพันธ์พิเศษ ซึ่งมีหลายคู่สิ่งที่ตามมาคือมีบุตร บุตรซึ่งเกิดโดยชายและหญิงไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน หากต่อมาชายและหญิงจดทะเบียนสมรสกัน หรือฝ่ายชายรับรองบุตร ก็ไม่มีปัญหาที่บุตรจะได้รับมรดกของฝ่ายชาย

แต่ถ้าฝ่ายชายตายก่อนที่จะได้กระทำ ไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรส หรือรับรองบุตร บุตรที่เกิดมามีปัญหาในการรับมรดกฝ่ายชายอย่างแน่นอน แล้วมารดาจะจัดการมรดกแทนบุตรได้อย่าง มาดูกัน !!!

ประเด็นแรก ต้องมีพิสูจน์ให้ได้ว่า บุตรแม้เกิดฝ่ายหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับฝ่ายชาย(ผู้ตาย) แต่ฝ่ายชาย(ผู้ตาย)มีการรับรองโดยพฤติการณ์แล้ว ทำให้บุตรย่อมเป็นทายาทโดยธรรมของฝ่ายชาย(ผู้ตาย)

ประเด็นที่สอง บุตรที่เกิดมานั้น ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรืออายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงติดเงื่อนไขในการทำนิติกรรมหลายอย่าง จึงต้องให้มารดาทำนิติกรรมแทน

หากเงื่อนไขครบตามข้างต้น 1) พิสูจน์ได้ว่าฝ่ายชาย(ผู้ตาย) รับรองบุตรโดยพฤติการณ์ 2) บุตรอายุไม่ครบ 20 ปี มารดาก็สามารถร้องจัดการมรดกแทนบุตรได้ตามกฎหมายต่อไป

บุตรนอกสมรส คือ บุตรที่เกิดจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน บุตรที่เกิดมานั้นจึงไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชาย จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของฝ่ายชายได้ เว้นแต่

มีพฤติการณ์ที่ถือเป็นการรับรองโดยพฤตินัย เช่น ให้ใช้นามสกุล ส่งเสียเลี้ยงดู ให้การศึกษา ให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หากพิสูจน์ได้ บุตรนอกสมรส ก็สามารถรับมรดกฝ่ายชายได้ตามกฎหมาย

ในกรณที่ผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย และก็ยังจัดการทรัพย์มรดกไม่เสร็จ จะต้องทำอย่างไร

กรณีแรก ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกมีเพียงคนเดียว ในกรณีนี้ผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับการแต่งตั้ง หากผู้จัดการมรดกตายก่อนจัดการมรดกเสร็จสิ้น จะต้องร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ ดังนั้นหากผู้จัดการมรดกได้รับการแต่งตั้งเพียงคนเดียวต้องทำคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกใหม่

กรณีที่สอง หากผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกมีมากกว่าหนึ่งคน ในกรณีนี้มีผู้จัดการมรดกหลายคนตามคำสั่งศาล เมื่อผู้จัดการมรดกร่วมคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกร่วมที่ยังมีชีวิตอยู่จะจัดการมรดกต่อไปก็ได้ แต่ผู้จัดการมรดกที่เหลือต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ผู้จัดการมรดกที่เหลือขอทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกต่อไปต่อศาลก่อน

เพียงเท่านี้ก็สามารถดำเนินจัดการทรัพย์มรดกต่อไปได้จนเสร็จสิ้นต่อไป

บุตรบุญธรรม

บุตรบุญธรรม คือ บุตรของผู้อื่นที่บุคคลได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรของตน โดย บิดา หรือมารดาบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมมิใช่สายเลือดเดียวกัน แต่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจกัน ระหว่างบิดาหรือมารดาบุญธรรมกับบิดามารดาที่แท้จริงของเด็ก และเด็กที่เป็นบุตรบุญธรรมด้วยเหตุผลบางประการ เช่นเพื่ออนาคตของเด็ก หรือเพื่อให้ผู้รับบุตรบุญธรรมที่ไม่มีบุตรได้มีบุตรสมใจปรารถนา การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กฎหมายจะให้ความคุ้มครองสิทธิเด็กให้มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา หรือมารดาบุญธรรมทันทีนับแต่วันที่จดทะเบียน

เช่น มีสิทธิได้รับมรดก มีสิทธิใช้นามสกุลของบิดา หรือมารดาบุญธรรม โดยที่บิดา หรือมารดาบุญธรรมไม่มีสิทธิที่จะมารับมรดกของบุตรบุญธรรม นอกจากนี้แล้ว บุตรบุญธรรมยังไม่เสียสิทธิที่พึงมีตามกฎหมายในครอบครัวเดิมแต่อย่างใด คือ ยังมีสิทธิรับมรดก ของบิดามารดาที่แท้จริงได้ และบิดามารดาที่แท้จริงมีสิทธิไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนได้ตามสมควร ทั้งนี้กฎหมายยังคุ้มครองเด็กโดยบิดา หรือมารดาบุญธรรมจะเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาที่แท้จริงเสียก่อน และจะฟ้องให้มีการเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยไม่มีเหตุอันควรไม่ได้

สำหรับผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมได้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายเท่านั้น ในกรณีที่มีคู่สมรสจะรับบุตรบุญธรรมทั้งคู่ต้องจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมด้วยกันทั้งคู่ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจดทะเบียนรับเพียงฝ่ายเดียวแม้อีกฝ่ายจะยินยอมไม่ถือเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมด้วยแต่อย่างใด การรับบุตรบุญธรรมที่สมบูรณ์ทำให้บุตรบุญธรรมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น โดยที่บุตรบุญธรรมนั้นไม่สูญเสียสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิด

ดังนั้น บุตรบุญธรรมมีสิทธิได้รับมรดก 2 ทาง คือ 1. รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม 2. รับมรดกของบิดามารดาที่แท้จริง บุตรบุญธรรมจึงมีสิทธิรับมรดก

Comments are closed.